อาทิวราห์ คงมาลัย (ตูน)

ชายผู้เปลี่ยนก้าววิ่งของคนธรรมดา ให้กลายเป็นก้าวที่ขับเคลื่อนเรื่องยิ่งใหญ่

START HIS IMPOSSIBLE ด้วยก้าววิ่งของคนธรรมดา

“วันที่ผมตัดสินใจว่าจะวิ่งจากเบตง ไปแม่สาย ภรรยาผมอุทานสั้นๆ ว่า ‘บ้า’ ”

ตูนเล่าออกมาอย่างอารมณ์ดี ถึงตอนที่เขาตัดสินใจบอกคนรอบตัวว่าจะเริ่มโปรเจคก้าวคนละก้าวครั้งใหม่ ที่ท้าทายกว่าเดิม และเขารู้ดีว่าตัวเองไม่ได้บ้า แต่ทุกอย่างได้ผ่านกระบวนการคิดและวางแผนมาอย่างรอบคอบ เพื่อทำภารกิจที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ให้เกิดขึ้นจริง

“เรารู้ว่าเราจะทำไปเพื่ออะไร และจะทำด้วยวิธีไหนให้ภารกิจนี้สำเร็จ ผมเองเป็นแค่คนธรรมดา ไม่ได้แข็งแกร่งขนาดนักกีฬามืออาชีพ ที่จะสามารถวิ่งจากเบตงไปแม่สายได้ในระยะเวลาแค่ 1 สัปดาห์ แบบนั้นเราทำไม่ได้หรอก แต่เราทำได้ในแบบของเรา ด้วยการก้าวแบบคนธรรมดา โดยกำหนดไว้แล้วว่าเราจะทำอย่างไรให้มันสำเร็จ”

หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าการท้าทายขีดจำกัดของตัวเองมากขนาดนี้ จะมีสักครั้งไหมในห้วงความคิดของเขา ว่ามันอาจจะล้มเหลวกลางทาง ซึ่งสำหรับตูนนั้นกลับตรงกันข้าม เพราะยิ่งความท้าทายนี้มีมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เขาก้าวต่อไปจนสำเร็จ

“แน่นอนครับวัตถุประสงค์หลักที่เราอยากทำเพื่อโรงพยาบาลมันเป็นสิ่งที่ผมยึดไว้เป็นจุดหมายยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าอะไรที่ผลักดันผมให้ก้าวข้ามทั้งความกลัวและความเจ็บปวดที่ต้องเจอในแต่ละวัน มันคือการท้าทายกับตัวเอง ว่าถ้าทำสำเร็จ เราจะเป็นคนไทยคนแรกที่วิ่งจากจุดใต้สุดไปสู่จุดเหนือสุดของไทย นอกจากสิ่งนี้จะถูกบันทึกไว้ มันจะเป็นความภูมิใจของเรา ที่สามารถเอาชนะขีดจำกัดของตัวเองได้”

ถ้าอยากถึงเป้าหมาย ต้องไม่จดจ่อกับอุปสรรค

ตลอดระยะเวลา 55 วันของการก้าววิ่ง ไม่มีอะไรเป็นเรื่องง่าย ความเจ็บปวดและเหนื่อยล้าถาโถมเข้ามาหาเขามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยใจที่จดจ่อกับเป้าหมาย จึงไม่เคยมีอุปสรรคไหน ที่ตูนมองว่าเป็นสิ่งกีดขวางชิ้นใหญ่ของเขา

“ผมไม่รู้สึกว่ามีอุปสรรคไหน ที่เป็นเรื่องใหญ่เลยตลอดการวิ่ง ทั้งๆ ที่เราเจ็บกล้ามเนื้อมาก จากขาลามมาถึงแขน จนคุณหมอต้องมาช่วย แต่ถึงขนาดนั้นเราก็ยังรู้สึกว่าเราทนได้ ผมคิดว่าเป็นเพราะกำลังใจจากทุกคนระหว่างทาง ที่มันเป็นมวลของความสุขที่มีขนาดใหญ่มาก จนจิตใจเราไม่ได้ยึดโยงกับสิ่งที่เป็นลบเลยครับ บวกกับการควบคุมจิตใจให้แน่วแน่กับเป้าหมาย ถ้าอยากถึงเส้นชัย ผมคิดว่าเราต้องไม่จดจ่อกับอุปสรรครอบข้างนานจนเกินไป”

ก้าวสุดท้าย ที่พิชิตภารกิจ IMPOSSIBLE

“ประมาณ 10 กิโลเมตรสุดท้าย ผมใจหายเหมือนกันนะ เพราะตลอดระยะทางที่เราวิ่ง มันสร้างความสุขและความหมายให้กับชีวิตผมมากเหลือเกิน จนไม่อยากจะถึงเส้นชัย อยากวิ่งไปเรื่อยๆ”

ตูนเปรียบเทียบการวิ่งครั้งนี้กับการเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ในสนามราชมังคลากีฬาสถาน ว่าถึงแม้ความสำเร็จในสายอาชีพนักร้องในวันนั้น จะสร้างความสุขให้เขาอย่างมากมายเช่นกัน แต่นั่นก็เปรียบไม่ได้เลยกับก้าววิ่งเล็กๆ บนถนนในครั้งนี้

“มากกว่าการทำสิ่งที่หวังสำเร็จ คือการได้รู้ว่าชีวิตที่มีความหมายมันเป็นอย่างไร คอนเสิร์ตคือความสำเร็จรูปแบบหนึ่ง เราได้พลังความรักและการสนับสนุนจากคนที่ชื่นชอบเรา แต่การวิ่งไปแม่สายมันมากกว่านั้น เพราะพลังของคนที่มารักและสนับสนุน มันไม่ใช่แค่สร้างความสุขให้เราอย่างเดียว แต่มันยังได้แบ่งปันให้กับคนอื่นๆ ด้วย มันเป็นช่วงที่เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายจริงๆ และนั่นแหละครับ คือสิ่งที่ผมได้รับจากการท้าทายขีดจำกัดของตัวเองในครั้งนี้”

เราทุกคนไปถึงจุด POSSIBLE ได้ แค่มีความฝัน ลงมือทำ และอดทนให้มากพอ

หลังจากผ่านมาครึ่งชีวิต ตูนพบว่าทุกครั้งที่เขาเดินทางมาถึงจุดที่เรียกว่าเป็นการพิชิต IMPOSSIBLE ของตัวเอง ล้วนเกิดจากการเริ่มต้นที่เรียบง่าย แต่ต้องสม่ำเสมอ และอดทนกับเงื่อนของเวลาให้มากพอ

“ยากมากที่ใครจะประสบความสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทุกอย่างต้องอาศัยเวลาและความอดทน ในวันที่ผมออก START ด้วยการเล่นดนตรี ผมไม่รู้หรอกครับว่าสิ่งนี้จะพาผมมาถึงจุดที่เป็น IMPOSSIBLE ของชีวิต นั่นคือการได้เล่นคอนเสิร์ตในสนามราชมังคลาฯ เราแค่ทำมันด้วยความรัก ความสนุก และก้าวเดินด้วยก้าวเล็กๆ ของเรามาเรื่อยๆ อย่างตั้งใจและสม่ำเสมอ วันหนึ่งมันจะพาเรามาถึงจุดที่เราอาจจะคิดว่ามันไม่มีอยู่จริงหรือ IMPOSSIBLE ได้ คือนอกจากมีความฝันแล้ว เราต้องอดทนให้มากพอและรักในสิ่งที่ตัวเองทำจริงๆ แล้วผมเชื่อเหลือเกินว่ามันมีจุด IMPOSSIBLE ที่ตัวเองไปถึงได้แน่ๆ”

ในวัย 42 ปี ของตูน ความสำเร็จทั้งในด้านดนตรี และการทำประโยชน์แก่สังคมของเขาเรียกได้ว่าเป็นประจักษ์อย่างไร้ข้อกังขา แต่ความสำเร็จในทุกย่างก้าวของตูนในวันนี้ เขายังไม่ถือว่านี้คือ จุดสิ้นสุดของการ START YOUR IMPOSSIBLE ของตัวเอง

“คำว่า IMPOSSIBLE ของผม มันไม่ใช่แค่วันนี้หรืออดีตที่ผ่านมาจนถึงวัย 42 ผมยังอยากจะใช้ชีวิตอีกครึ่งหนึ่งที่เหลืออย่างมีคุณภาพ เพราะมีอีกหลายเรื่องเลยครับที่ผมอยากจะทำ และถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะ RESTART MY IMPOSSIBLE อยู่ตลอดๆ ผมเชื่อว่าเราควรมีความฝันอยู่ทุกวัย แต่แค่ต้องเปลี่ยนรูปทรงไปตามกาลเวลา ที่ผ่านมาครึ่งชีวิต ผมได้ START MY IMPOSSIBLE และสำเร็จมาในระดับหนึ่ง แต่ถ้าถามว่านี่คือที่สุดของชีวิตหรือยัง อาจยังไม่ใช่ เพราะชีวิตเรายังเหลืออีกตั้งครึ่งหนึ่ง ถ้าครึ่งหลังประมาทและใช้ชีวิตไม่ดี ความสำเร็จวันนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

จิตวิญญาณ START YOUR IMPOSSIBLE จากตูนถึงนักกีฬาโอลิมปิก พาราลิมปิก

“ถ้าเทียบกับเหล่านักกีฬาโอลิมปิกแล้ว ผมตัวเล็กมากเลย แทบจะเทียบอะไรกับพวกเค้าไม่ได้เลยครับ”

ถึงแม้ทั้งตูนและบรรดานักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกจะมีจิตวิญญาณของ START YOUR IMPOSSIBLE เหมือนกัน แต่ตูนรู้สึกว่าการก้าวข้ามขีดจำกัดของเขากับเหล่านักกีฬานั้นต่างกัน

“ผมทำในสิ่งที่ชอบและเชื่อมั่น โดยที่ไม่ได้ไปแข่งกับใครเลยครับ แต่นักกีฬาทุกคนนอกจากจะฟิตซ้อมกันมาเป็นเวลาหลายปี ยังต้องมีการแข่งขันเพื่อเก็บคะแนนจากทั่วโลก มันยากมากและ เท่มาก ทุกคนเก่งที่สุดแล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่าการแข่งขันจะแพ้หรือชนะ แค่เข้าไปจนถึงการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกได้ ทุกคนก็เหมาะสมกับคำว่า IMPOSSIBLE แล้วครับ”

และถึงแม้ในปีนี้ จะเป็นโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ยากลำบากกว่าทุกครั้ง แต่พวกเราเชื่อเหลือเกินว่า คนไทยทุกคนจะส่งกำลังใจไปสู่นักกีฬาทุกคน

“ผมอยากบอกทุกคนว่า ถึงแม้ปีนี้จะไม่มีผู้ชมในสนาม ไม่มีเสียงเชียร์ที่คอยให้กำลังใจขณะแข่ง แต่ผมเชื่อเหลือเกินจะมีกว่า 66 ล้านกำลังใจที่เฝ้าเชียร์อยู่ทางหน้าจอด้วยใจเดียวกัน ส่งแรงเชียร์ไปถึงทุกคน ในทุกครั้งที่นักกีฬาไทยลงแข่ง โดยไม่ต้องห่วงเลยว่าจะแพ้หรือชนะ เพราะนั่นคือเรื่องธรรมดาของกีฬา ทุกการแข่งขันย่อมมีแพ้ มีชนะ แต่ตราบใดที่ทุกคนลงไปสู้ ด้วยความมุ่งมั่นและเต็มที่กับมัน ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็ทำให้พวกเราภูมิใจครับ ถ้าเราแน่วแน่ ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้”